หลายๆคนชอบรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเห็ด ยิ่งหน้าฝนยิ่งเป็นช่วงที่สามารถหาเห็ดพื้นบ้านทานได้ง่ายและราคาไม่แพง แต่ก็เสี่ยงต่อการเก็บเห็ดพิษมารับประทานหรือจำหน่ายเช่นกัน ดังนั้นวันนี้เราจะพามาดูลักษณะสังเกตของเห็ดพิษ จะได้สบายใจก่อนนำมาปรุงอาหาร
วิธีทดสอบเห็ดพิษเบื้องต้น
การสังเกตเห็ดเป็นการยากที่จะจำแนกได้ว่าเห็ดชนิดใดมีพิษหรือชนิดใดไม่มีพิษ แต่มีวิธีทดสอบง่ายๆดังนี้
- การต้มเห็ดกับข้าวสาร ถ้าเป็นเห็ดทานได้ข้าวสารจะสุกทั่วทั้งหมด แต่ถ้าเป็นเห็ดพิษ ข้าวสารจะสุกๆ ดิบๆ หรือไม่สุก
- การต้มเห็ดโดยการใส่หัวหอม ถ้าเห็นทานได้หัวหอมและน้ำต้มเห็ดจะมีสีปกติ แต่ถ้าเห็ดเป็นพิษ น้ำต้มเห็ดจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
- การใช้ช้อนเงินแท้จุ่มหรือคนที่น้ำต้มเห็ด ถ้าเห็ดเป็นพิษ ช้อนจะเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่วิธีทดสอบนี้ไม่สามารถใช้กับเห็ดอะมานิตา ฟัลลอยด์ (Amanita Phalloides ) เพราะช้อนจะไม่เปลี่ยนเป็นสีดำ
- การใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเห็ดทานได้ปูนจะไม่เปลี่ยนสี แต่ถ้าเป็นเห็ดพิษปูนจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
- ใช้มือถูหมวกดอกเห็ดจนเป็นรอยแผล ถ้าเห็ดทานได้รอยแผลจะไม่เปลี่ยนสี แต่ถ้ารอยแผลมีสีดำ แสดงว่าเป็นเห็ดพิษ
- สังเกตดูรอยสัตว์กินดอกเห็ด ถ้ามีรอยแมลงสัตว์กัดกินแสดงว่าไม่มีพิษ แต่ไม่สามารถใช้ได้กับเห็ดพิษอะมานิตา ฟัลลอยด์ได้ เพราะกระต่ายและหอยทากสามารถกัดกินได้ เนื่องจากในกระเพาะอาหารของสัตว์ดังกล่าวมีสารที่ทำลายพิษของเห็ดชนิดนี้ได้
วิธีสังเกตลักษณะของเห็ดพิษ
เนื่องจากการทดสอบ 6 วิธีข้างต้น ยังไม่สามารถทดสอบพิษเห็ดได้ 100 % เนื่องจากคุณสมบัติของสารพิษมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจำเป็นต้องใช้การสังเกตลักษณะของเห็ดร่วมด้วย
- มีหมวกเป็นปุ่มขรุขระ
- มีวงแหวนใต้หมวก
- มีขนหรือหนามเล็ก ๆ บริเวณโคน
- มีกลิ่นรุนแรงเมื่อดอกแก่
- หมวกเห็ดมีสีน้ำตาล หรือสีสันฉูดฉาดเพื่อล่อเหยื่อ
- มีลักษณะสีขาวทั้งดอก
- เกิดใกล้กับมูลสัตว์
- หมวกเห็ดมีลักษณะเป็นรูป ๆ แทนที่จะเป็นช่อง ๆ คล้ายครีบปลา
- มีลักษณะคล้ายสมอง หรืออานม้า บางชนิดต้มแล้วกินได้ แต่บางชนิดมีพิษร้ายแรง
- เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่เกิดบนมูลสัตว์ หรือใกล้กับมูลสัตว์
การสังเกตเห็ดว่าทานได้หรือไม่ค่อนข้างยากสำหรับประชาชนทั่วไป อีกทั้งการทดสอบก็ไม่สามารถแยกเห็ดพิษได้ชัดเจน วิธีที่ดีที่สุดคือรับประทานเห็ดที่เคยบริโภคแล้วเท่านั้น