สาวหลายๆคนต้องเจอปัญหาโรคภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ ละอองเกสรวัชพืช ทำให้ต้องระวังในการสัมผัสดอกไม้ ยิ่งถ้าแพ้เกสรดอกกุหลาบวันวาเลนไทม์คงอดได้รับช่อดอกไม้ช่อโตอย่างแน่นอน แต่เราสามารถทำให้อะไรง่ายขึ้นถ้าเราเข้าใจสาเหตุที่เป็น
โรคภูมิแพ้ที่เกิดจากละอองเกสรดอกไม้
ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืด ละอองเกสรดอกไม้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ละอองเกสร(เรณู)เป็นสารชนิดแป้งที่พืชผลิตขึ้นเพื่อนำเซลล์สืบพันธุ์ไปยังพืชชนิดอื่น หรือในหลาย ๆ กรณีไปยังส่วนอื่น ๆ ของพืชชนิดเดียวกัน ละอองเกสรกระจายตัวในอากาศได้ง่ายเนื่องจากมีขนาดเล็ก ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 6 ไมครอนถึง 100 ไมครอน เมื่อสูดดมเข้าไปในจมูกและลำคอ ละอองเกสรสามารถทำให้เกิดอาการภูมิแพ้และหอบหืดได้
สารก่อภูมิแพ้ จากพืชมีอะไรบ้าง?
- ละอองเกสรหญ้า เช่น หญ้าแพรก หญ้าพง
- ละอองเกสรไม้ยืนต้น เช่น กระถินณรงค์ มะม่วง มะพร้าว
- ละอองเกสรดอกไม้ เช่น ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ
- วัชพืชขนาดเล็ก เช่น ผักโขม ไมยราพ
- ละอองฟาง หญ้าแห้ง
ดอกไม้สำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้
ไม่ใช่คนที่เป็นภูมิแพ้เกสรดอกไม้สามารถที่ได้รับดอกไม้ หรือชื่นชมดอกไม้ได้หากเลือกอย่างเหมาะสม
1.ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ หรือไม่มีกลิ่นเลย
จากงานวิจัยพบว่ากลิ่นของดอกไม้ เป็นน้ำมันหอมระเหย (Volatile Oil) สามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้และเป็นปัจจัยทำให้ระคายเคืองได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว จะมีภาวะเยื่อบุจมูกไว ที่เรียกว่า Nasal Hyperresponsiveness ถ้าดอกไม้มีกลิ่นอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้
2.ดอกไม้ที่กลีบดอกปิดคลุมเกสร
ดอกไม้ที่กลีบปิดคลุมเกสรหรือไม่มีเกสรโผล่ออกมาภายนอกเลยจะดีกว่า ถึงแม้ว่าปกติละอองเกสรดอกไม้จะเป็นละอองเกสรที่ใหญ่ไม่ค่อยฟุ้งกระจายในอากาศก็ตาม และต้องอาศัยแมลงในการผสมพันธุ์ จากการศึกษาพบว่าคนงานที่ทำงานในแหล่งที่ปลูกดอกกุหลาบในประเทศตุรกี ระดับแอนตี้บอดี้จำเพาะ ที่เรียกว่าชนิดอี (Specific Immunoglobulin E) มักจะเกิดขึ้น นั่นแสดงว่าเกสรดอกไม้บางประเภทสามารถฟุ้งกระจายในอากาศและกระตุ้นการเกิดอาการภูมิแพ้ได้ ตัวอย่างดอกไม้ เช่น ทิวลิป บีโกเนีย เจอเรเนียม ลิลลี่
3.ดอกไม้ที่ไม่มียาง ไม่มีหนาม
ยางหรือหนามของดอกไม้อาจทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัส หรือผื่นจากการระคายเคือง (Contact Dermatitis) ได้ เมื่อสัมผัสโดนยาง, ขนหรือหนามตามก้าน โดยเฉพาะพืชตระกูลเบญจมาศ ลิลลี่ ทิวลิป เยอร์บีน่า
สำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้หรืออาจจะมาจากวัชพืช ดอกหญ้า ควรหมั่นสังเกตตัวเองว่าเกิดอาการแพ้เมื่อสัมผัสดอกไม้ชนิดไหน หรือจะเป็นในช่วงฤดูกาลไหน เช่น ช่วงหน้าหนาว ลมหนาวทำให้ดอกหญ้าปลิ่วมาตามลม จะทำให้เราหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้