มารู้จักการสาดสี กับเทศกาลโฮลี (Holi Festival)

เทศกาลโฮลี เป็นเทศกาลของชาวฮินดูที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละสองวันในช่วงเดือนมีนาคม เทศกาลนี้เรียกว่า “เทศกาลแห่งสีสัน” โดยทุกคนจะสาดสีผงใส่กัน มีแต่ความสนุกสนานหรืออาจจะสาดน้ำใส่กัน คล้ายสงกรานต์บ้านเรา

ตำนานเทศกาลโฮลี  

ด้วยความเก่าแก่ของอารยธรรมอินเดีย ทำให้เทศกาลโฮลี ถูกเชื่อมโยงกับตำนานต่างๆ มากมาย เช่น หิรัณยกศิป เจ้าแห่งอสูรนาม ได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นอมตะ ซึ่งต่อมาด้วยความที่ไม่มีใครฆ่าได้ ทำให้เจ้าอสูรต้องการให้ทุกคนบูชาตนเองเท่านั้น แต่ลูกชายที่ชื่อ ประหลาด (Prahlad) กลับบูชาแต่พระวิษณุ ทำให้อสูรโกรธมาก พยายามหาวิธีทำให้ลูกตัวเองตาย หนึ่งในวิธีคือการหลอกให้ถูกเผาทั้งเป็น โดยให้ประหลาดเข้าพิธีบูชาไฟพร้อมน้องสาวของตนที่ชื่อ โหลิกา น้องสาวคนนี้ได้รับพรพิเศษว่าไฟไม่สามารถทำร้ายเธอได้ แต่ปรากฏว่าเมื่ออยู่ในกองไฟ เธอกลับถูกเผาไหม้ โดยประหลาดกลับไม่เป็นอะไรเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะพรที่เธอได้นั้นมีเงื่อนไขว่าเธอเข้ากองไฟคนเดียว สำหรับ ประหลาดนั้นด้วยการยึดมั่นบูชาถึงพระวิษณุเสมอจึงไม่เป็นอะไรจากไฟ การบูชา Holi มาจากคำว่า Holika หมายถึงไฟเผา  

ตำนานการสาดสีและความเชื่อ 

พระกฤษณะ นำสีไปสาดใส่สาวคนรักชื่อ ราธา เนื่องจากตนเองมีผิวสีคล้ำ ไม่ขาวเนียนเช่นสาวคนรัก เมื่อไปถามแม่ แม่จึงบอกให้นำสีไปสาดใส่ ราธา พระกฤษณะเลยจึงทำอย่างที่แม่บอก เกิดการสาดสีกันไปมา จึงเป็นที่มาของการสาดสีใส่กันใน “เทศกาลโฮลี” ชาวอินเดียยังเชื่อว่าสีที่ติดตัวเสื้อผ้า ล้างและซักไม่ออก คือความเข้มแข็งของมิตรภาพที่จะติดตรึงไปตลอดกาล ไม่มีวันจาง จึงนิยมใส่ผ้าสีขาว 

ฝุ่นสีที่ใช้ ใน “เทศกาลโฮลี” คืออะไร 

ในอดีตผงสีที่ใช้สาดใส่กันในเทศกาลโฮลีนั้น ทำมาจากธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาว, บีทรูท, ขมิ้น อันเป็นนัยที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ โดยในปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นใช้แป้งที่ใช้ทำอาหาร ผสมกับสีผสมอาหาร 

การเฉลิมฉลองในเทศกาลโฮลี 

ในช่วงเย็นของวันแรกจะมีการจัดซุ้มกองไฟเพื่อทำพิธีบูชา สำหรับผู้หยิงที่แต่งงานแล้วมีลูกชายเท่านั้น และในวันที่สองจะเล่นสาดสีและสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน บ้างก็เปิดเพลงเต้นรำกัน 

เทศกาลสาดสีหรือเทศกาลแห่งสีสันของชาวฮินดู นอกจากจะแสดงถึงความเชื่อทางศาสนาแล้ว ยังแฝงด้วยความหมายของชีวิต หากมีโอกาสแนะนำไปร่วมเทศกาลนี้ สัมผัสวัฒนธรรมที่สวยงามของชาวอินเดีย