การคลอดก่อนกำหนดเกิดจากอะไร ส่งผลอย่างไรต่อลูกน้อย

การคลอดก่อนกำหนดเป็นสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะว่าคุณแม่โดยส่วนใหญ่นั้นได้เตรียมการหรือได้วางแผนการคลอดบุตรไว้เป็นอย่างดีแล้ว แต่ถ้าหากเจ็บท้องคลอดก่อนเวลาอันควรขึ้นมา จะมีอันตรายหรือไม่ และเราสามารถที่จะป้องกันในเรื่องนี้ได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบให้กับคุณ

การคลอดก่อนกำหนด คืออะไร?

การคลอดก่อนกำหนด คือ ภาวะที่ผู้หญิงตั้งครรภ์คลอดบุตรก่อนอายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ แม้ว่าทารกจะมีอวัยวะต่างๆครบถ้วนสมบูรณ์ แต่อวัยวะต่างๆนั้นยังทำงานได้ไม่ดีเท่ากับทารกที่คลอดครบกำหนด โดยที่หลังคลอดจะต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ และมักจะต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อรักษานานกว่าปกติ

ปัจจัยเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี และมีอายุมากกว่า 35 ปี มีโอกาสเกิดภาวะคลอดลูกก่อนกำหนดได้
  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ
  • มีประวัติเคยคลอดลูกก่อนกำหนดมาก่อน
  • มดลูกเกิดการขยายตัวมากเกินไป เช่น การตั้งครรภ์แฝด ภาวะของน้ำคร่ำมีมากกว่าปกติ เป็นต้น
  • เกิดการอักเสบภายในช่องคลอด
  • เกิดจากการติดเชื้อภายในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะเกิดการติดเชื้อ ติดเชื้อทางระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น
  • สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือมีการใช้สารเสพติดขณะที่มีการตั้งครรภ์
  • ความเครียดในเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวัน
  • การที่ครรภ์ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง

สัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนด

  • การบีบตัวของมดลูกที่มีความถี่มากขึ้น โดยปกติหากมีอายุครรภ์เกิน 30 สัปดาห์ มดลูกก็จะมีการบีบตัวบ้าง แต่ไม่บ่อย หากคุณแม่ตั้งครรภ์พบว่าการบีบตัวของมดลูกมีความถี่มากกว่าปกติ เช่น ทุกครึ่งชั่วโมง ก็ควรที่จะรีบไปพบแพทย์
  • มีอาการน้ำเดิน โดยจะมีน้ำใสๆออกมาทางช่องคลอด
  • มีมูกปนเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด โดยมูกนี้จะเป็นมูกที่อุดปากช่องคลอดอยู่ หากมีมูกปนเลือดไหลออกมา นั่นแสดงว่าปากมดลูกมีโอกาสที่จะเปิด ซึ่งอาการนี้บ่งบอกได้ว่าใกล้ที่จะคลอดลูกแล้ว
  • มีอาการปวดหลังบริเวณช่วงล่างหรือเอว เดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหาย แม้จะมีการเปลี่ยนท่าทางก็ตาม

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเด็กคลอดก่อนกำหนด

เด็กอาจจะมีการเจริญเติบโตได้ช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป เพราะการคลอดลูกก่อนกำหนดนั้นเด็กจะตัวเล็ก น้ำหนักตัวน้อย อวัยวะต่างๆทำงานได้ไม่ดีเท่ากับเด็กคลอดตามกำหนด จึงมีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆมากกว่าเด็กปกติทั่วไป

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่

โดยปกติแล้วจะไม่มีอันตรายร้ายแรง และคุณแม่มักจะมีน้ำนมน้อย หรือมีน้ำนมช้า เพราะว่าร่างกายยังไม่มีความพร้อม ส่วนการดูแลตัวเองก็ให้ดูแลเหมือนกับคนคลอดปกติทั่วไป

การป้องกัน

  • คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องทำการ “ฝากครรภ์” เพื่อที่จะได้รับการตรวจร่างกาย หากมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับการตั้งครรภ์ จะได้วางแผนในการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
  • ควรดูแลทั้งในด้านร่างกายและจิตใจให้เป็นปกติ เพราะขณะตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนจะแปรปรวน เกิดความเครียดได้ง่าย ดังนั้นควรดูแลในเรื่องนี้ให้ดี รวมทั้งกินอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก และหมั่นสังเกตร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ

ภาวะคลอดก่อนกำหนดเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆลงตามที่กล่าวไปข้างต้น และทำการฝากครรภ์ เพื่อที่จะติดตามดูแลสุขภาพการตั้งครรภ์ของคุณแม่ได้