วิธีตรวจรับบ้านด้วยตัวเองต้องดูอะไรบ้าง

หลังจากที่ซื้อบ้าน หรือซ่อมแซมบ้านทุกครั้ง มีหนึ่งขั้นตอนที่หลายคนมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญ เพราะมั่วแต่ตื่นเต้นอยู่ นั่นก็คือขั้นตอน การตรวจรับบ้าน ที่มักจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่เราจะเซ็นรับมอบบ้าน โดยที่หลาย ๆ คนมักจะมองข้าม โดยที่ขั้นตอนนี้จำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้ความรู้ และความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าตัวบ้านสมบูรณ์ที่สุด เพราะถ้าหากบ้านมีตำหนิ หรือจุดไหนที่ต้องแก้ไข ก็จะสามารถแจ้งให้โครงการทำการแก้ไขได้ทันท่วงที เพราะถ้าหากทำการเซ็นรับรองไปแล้ว การจะมาแก้ไข หรือปรับแต่ง ก็อาจจะต้องใช้เวลา หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านที่ไม่จำเป็นเลย

การเตรียมตัวก่อนไปตรวจรับบ้าน

  • ตรวจสอบสัญญาจะซื้อจะขาย และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้แน่ใจอีกครั้ง
  • นัดวัน และเวลาเข้าไปตรวจรับบ้านกับเจ้าหน้าที่โครงการ
  • เตรียมรายละเอียดโครงการ เช่น ขนาดพื้นที่ เฟอร์นิเจอร์ วัสดุที่ใช้ ฯลฯ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับตัวบ้านจริง
  • ควรไปตรวจรับบ้านอย่างน้อย 2 คน ขึ้นไป เพื่อจะได้ช่วยกันตรวจสอบ

จุดยอดฮิตที่ต้องเช็กก่อนตรวจรับบ้าน

  1. ภายนอกบ้าน

ประตูรั้ว

มุมประตูถือเป็นจุดที่มักจะมีปัญหาเป็นประจำ เพราะฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับจุดนี้มากสักหน่อย โดยเฉพาะรอยเชื่อมต้องไม่มีรู และทาสีกันสนิมเรียบร้อย โดยเฉพาะขอบประตูด้านล่าง และควรทดสอบว่าโครงสร้างประตูแข็งแรงหรือไม่ ล้อและบานเลื่อน ไม่ฝืดหรือลื่นจนเกินไป

พื้นที่รอบบ้าน ที่จอดรถ

ที่จอดรถแบบที่อยู่ภายนอกโครงสร้างบ้าน ที่มักจะเป็นพื้นที่ที่มากปัญหาทรุดลงไปบ่อยมาก ๆ แต่หากเป็นที่จอดรถแบบอยู่ภายในโครงสร้างบ้านก็จะไม่เกิดปัญหานี้ แต่พื้นที่รอบบ้านก็อาจจะทรุดตัวได้อยู่ดี

  1. โครงสร้างบ้าน

ผนัง

ผนังควรเรียบ ได้ระนาบ ไม่มีรอยร้าว ทั้งรอยร้าวเล็ก ๆ (รอยร้าวลายงา) ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้าง แต่อาจทำให้น้ำซึมเข้าได้ และรอยร้าวขนาดใหญ่ในแนวดิ่งหรือแนวเฉียง ซึ่งจะเป็นปัญหาโครงสร้างที่ต้องให้โครงการดำเนินการแก้ไข

ประตู หน้าต่าง 

ทดสอบการรั่วซึมโดยการฉีดน้ำ และดูว่ามีจุดไหนที่มีรอยรั่วซึมหรือไม่ ให้ดูทั้งด้านใน และด้านนอก สำหรับบานประตูควรใช้กระจกส่องดูขอบด้านบนว่าทาสีเรียบร้อยหรือไม่ เพราะหากโดนฝนหรือมีความชื้น ประตูอาจจะบวมจนปิดไม่สนิท

กระเบื้อง

พื้นกระเบื้องต้องเรียบ ไม่ร่อนหรือบิ่น โดยที่สามารถทดสอบความคงทน และความหนาแน่นด้วยการเคาะ แล้วฟังเสียง หากเคาะแล้วกระเบื้องมีเสียงแตกต่างจากแผ่นอื่น หรือกระเบื้องสั่น ก็แปลว่าปูนกาวใต้กระเบื้องไม่แน่น เพื่อความแน่ใจ ควรเคาะทดสอบกระเบื้องให้ทั่วทั้งแผ่นและทุกแผ่น

  1. ระบบน้ำและสุขาภิบาล

ห้องน้ำ

ห้องน้ำชั้น 2 ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะมักจะเป็นจุดที่เจอปัญหาบ่อยที่สุด ควรอุดรูระบายด้วยดินน้ำมันหรือถุงพลาสติก แล้วปล่อยให้น้ำขังเพื่อดูว่ามีน้ำซึมหรือไม่ นอกจากนี้ยังควรเช็คการใช้งานของชักโครก ว่าการระบายน้ำเป็นอย่างไร เร็วไป ช้าไป หรือไม่ และหากมีการแยกโซนเปียกและแห้ง ก็ควรลองฉีดน้ำดูว่ามีน้ำซึมผ่านขอบบานกั้นหรือไม่

  1. ระบบไฟฟ้า

สวิตช์ไฟ และเต้ารับ

จุดที่สำคัญที่สุดสำหรับการอยู่อาศัย เพราะฉะนั้นควรทดลองใช้งานดูทุกจุด ว่าใช้งานได้ไหม ที่สำคัญควรใช้เครื่องตรวจสอบเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วไหล (ELCB Tester) ทดสอบความถูกต้องของการเดินสายไฟ สายดิน และระบบตัดไฟ

ตู้ไฟ

สำหรับการตรวจตู้ไฟ ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจ เพราะวิธีการเดินสายไฟ สีและขนาดสายไฟ มีผลต่อความปลอดภัยในการชีวิตและการดูแลรักษาทั้งสิ้น

การตรวจสอบบ้าน ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะหมายถึงความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย ที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้จากการซ่อมแซมที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยสิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอในระหว่างและหลังการตรวจรับบ้าน ก็คือ ควรจดบันทึกจุดตำหนิให้ครบถ้วน ทั้งการมาร์กจุดที่ตัวบ้าน และข้อมูลหรือรูปถ่ายที่เก็บไว้กับตัว เนื่องจากจะต้องใช้เปรียบเทียบอีกครั้ง หลังจากที่โครงการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และถ้าหากว่าทุกจุดตรวจสอบอย่างละเอียด และไม่มีปัญหาอะไร ก็จะทำให้สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้อย่างสบายใจ ทั้งผู้รับ และผู้ส่ง ได้นั่นเอง